โรคใบไหม้แผลเล็ก

โรคใบไหม้แผลเล็ก

(Southern Corn Maydis Leaf Blight)

    

การระบาดของโรคนี้ในประเทศไทยมีเสมอทุกปีและระบาดเพิ่มมากขึ้นในหลายพื้นที่จนถึงปัจจุบัน โดยมีความรุนแรงกับข้าวโพดสายพันธุ์แท้ (Inbred line) บางสายพันธุ์ ข้าวโพดหวานข้าวโพดเทียน ข้าวโพดข้าวเหนียว เป็นต้น

ลักษณะอาการ

ระยะแรกจะเกิดจุดเล็ก ๆ สีเขียวอ่อนฉ่ำน้ำ ต่อมาจุดจะขยายออกตามความยาวของใบ โดยจำกัดด้านกว้างของแผลขนานไปตามเส้นใบตรงกลาง แผลจะมีสีเทา ขอบแผลมีสีเทาน้ำตาล ขนาดของแผลไม่แน่นอน แผลที่ขยายใหญ่เต็มที่มีขนาดกว้าง 6-12 มิลลิเมตร และยาว 6-27 มิลลิเมตร ในกรณีที่ใบข้าวโพดเป็นโรครุนแรง แผลจะขยายตัวรวมกันเป็นแผลใหญ่ และทำให้ใบแห้งตายในที่สุด อาการของโรคเมื่อเกิดในต้นระยะกล้าจะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน ทุกใบอาจจะเหี่ยวและแห้งตายภายใน 3-4 สัปดาห์หลังปลูก แต่ถ้าเกิดกับต้นแก่อาการจะเกิดบนใบล่าง ๆ ก่อน นอกจากจะเกิดบนใบแล้วยังเกิดกับต้นกาบใบ ฝักและเมล็ดอีกด้วย

เชื้อสาเหตุ

เกิดจากเชื้อรา Bipolaris maydis (Nisik.) Shoemaker. มีชื่อเดิมว่า Helminthosporium maydisNisik. เข้าทำลายข้าวโพดในเขตอบอุ่นและร้อนชื้น เชื้อมีสปอร์ยาวโค้ง ปลายเรียวมน ไม่มี hilum สีเขียวมะกอก การงอก germ tube ออกทางปลายทั้งสองด้าน เมื่อนำใบข้าวโพดเป็นโรคมาบ่มที่ความชื้น ในอุณหภูมิห้องจะสร้างสปอร์ในเวลา 24-48ชม. ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญของเชื้อจะสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ รูปร่างกลม สีดำมีส่วนปากค่อนข้างแหลมยื่นออกมาขนาด 0.4-0.6 มม.

การแพร่ระบาด

เชื้อโรคสามารถระบาดจากต้นหนึ่งไปสู่อีกต้นหนึ่ง หรือจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง โดยติดไปกับเมล็ดที่เป็นโรคและโดยทางลม หรือฝนนำสปอร์ปลิวไป เมื่อเข้าทำลายพืชเป็นแผลบนใบสามารถสร้างสปอร์อีกมากมายแพร่กระจายในแหล่งปลูก วงจรของโรคเริ่มจากเข้าทำลายจนสร้างสปอร์ใหม่ ภายในเวลา 60-72ชั่วโมง ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ที่ความชื้นสูง อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 20-320 เซลเซียส เชื้อราสามารถเข้าทำลายข้าวโพดได้หลายครั้งในแต่ละฤดูจากสปอร์ใหม่ที่เกิดขึ้น แพร่กระจายไปกับลมและฝน แล้วเข้าทำลายข้าวโพดอีกหลายรอบ เชื้อราสามารถมีชีวิตได้ในใบข้าวโพดนานถึง 8 เดือนและมีชีวิตในเมล็ดข้าวโพดได้นานกว่า 1 ปี นอกจากนี้ยังพบว่าหญ้าเดือยเป็นพืชอาศัยของเชื้อราชนิดนี้

การป้องกันกำจัด

1. ใช้เมล็ดพันธุ์จากต้นที่สมบูรณ์ปราศจากโรค

2. หมั่นตรวจไร่อยู่เสมอตั้งแต่ระยะกล้าเมื่อพบโรคเริ่มระบาดให้ถอนแล้วเผาทำลายจากนั้นใช้สารเคมีไตรโฟรีน20 (ซาพรอล) อัตรา 60 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นสามารถป้องกันกำจัดโรคได้

3. ทำลายพืชอาศัยของโรค เช่น หญ้าเดือย (Rottboellia exaltata)

4. ทำลายเศษซากของข้าวโพดหลังเก็บเกี่ยวเพราะจากการศึกษา พบว่า เชื้อราสามารถอยู่ข้ามฤดูบนเศษซากของข้าวโพดได้

5. ปลูกพันธุ์ต้านทานต่อโรค เช่น นครสวรรค์ 1 นครสวรรค์ 72 สุวรรณ 1 สุวรรณ2

© Copyright 2024 คูโบต้า มหาสารคาม All Rights Reserved. | Design by iJude.net