ฟางข้าว และตอซัง คือทองคำในผืนนา

ฟางข้าว และตอซัง คือทองคำในผืนนา

 

พี่ธนะ มงคลชัย เกษตรกรอินทรีย์แห่งบ้านหนองตาเรือง ต.แม่ระกา อ.วังทอง จ.พิษณุโลก เป็นเกษตรกรชาวนาที่ทำนามาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายแล้ว แต่ผลผลิตข้าวที่ได้กลับลดลงเรื่อยๆ ทั้งที่ตนเองก็เพิ่มปริมาณปุ๋ยเคมีขึ้นทุกปี เขาจึงศึกษาเพิ่มเติมเพื่อหาว่าจะทำอย่างไรให้ข้าวที่ตนปลูกได้ผลผลิตมากขึ้น และลดต้นทุนในการปลูกข้าวลง หลังจากทดลองกับพื้นที่นาของตนเองโดยทดลองอยู่ถึง 4 ปี จนเห็นผลชัดเจนว่าเดินมาถูกทางแล้ว และจะเดินต่อไป เขามีวิธีการเช่นไร มาติดตามกัน

วิธีการทำนาแบบพี่ธนะ

ขั้นตอนที่ 1 หมักปุ๋ยน้ำหมักไว้ใช้เอง โดยสูตรในการทำน้ำหมักชีวภาพในการใช้บำรุงต้นพืชโดยทั่วไปจะมีสูตรคล้ายคลึงกัน โดยอาจแบ่งได้ 2 สูตร ตามการใช้งานได้ดังนี้

น้ำแม่ ประกอบด้วยพืชผักใบเขียว เช่น หน่อไม้ ยอดผักบุ้ง หน่อกล้วย ต้นถั่ว ฯลฯ โดยใช้ส่วนที่ยังอ่อนที่สุด (ส่วนยอด) และต้องเป็นส่วนที่สมบูรณ์ที่สุดด้วย เพื่อให้ได้ฮอร์โมนที่มีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยในการเร่งการเจริญเติบโตของพืช

 

น้ำพ่อ ประกอบด้วยผลไม้สุกชนิดต่างๆ เช่น สับปะรดสุก กล้วยสุก มะละกอสุก ฟักทองแก่จัด ฯลฯ เพื่อช่วยในการให้ผลผลิตที่สมบูรณ์ การติดผลดีขึ้น

 

โดยวิธีการทำทั้ง 2 สูตร จะเหมือนกัน คือนำกากน้ำตาล 3 กิโลกรัม ใส่ลงไปในถังขนาด 50 ลิตร แล้วเติมน้ำ 20 ลิตร คนไปในทางเดียวกันให้เข้ากันดี แล้วนำพืชผักตามสูตรมาสับเป็นชิ้นเล็กๆ น้ำหนักอย่างละ 3 กิโลกรัม ใส่ลงในถัง แล้วเพิ่มด้วยหัวเชื้อซุปเปอร์ พด.2 กรมพัฒนาที่ดิน 1 ซอง ทำการคลุกเคล้าให้เข้ากันโดยมีเทคนิคคือ ต้องคลุกเคล้าไปในทิศทางเดียวเท่านั้น เมื่อส่วนผสมเข้ากันดีแล้วก็ปิดฝาเพื่อป้องกันแสงแดดและอากาศ เนื่องจากจุลินทรีย์ที่ย่อยสลายนี้เป็นจุลลินทรีย์ที่ไม่ต้องการแสงและอากาศ แต่ไม่ควรปิดฝาแน่นเกินไปเพราะในขั้นตอนการหมักจะเกิดแก๊สขึ้น ทำการเปิดแล้วใช้ไม้คนส่วนผสมทุก 3 วัน ใช้เวลาหมัก 30 วัน ก็สามารถนำไปเจือจางใช้บำรุงพืชได้เลย

 

*** โดยอัตราส่วนขึ้นอยู่กับปริมาณที่ต้องการใช้งาน เมื่อต้องการใช้มากกว่าที่กล่าวมาก็ทำการเพิ่มอัตราส่วนขึ้นไปได้

ขั้นตอนที่ 2 เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จก็ทำการไถกลบฟางข้าว และตอซัง โดยไม่เผาเป็นอันขาด เพราะการเผาฟาง คือการเผาทองคำในดิน เนื่องจากเมื่อเผาฟางอินทรียวัตถุ และปุ๋ยก็ถูกเผาไปด้วย แถมจุลลินทรีย์ แมลง และไส้เดือน ที่เป็นประโยชน์ก็จะตายไป เมื่อไถกลบเสร็จแล้วก็จะใช้น้ำหมักชีวภาพฉีดพ่น หรือปล่อยไปกับน้ำที่ใส่ลงในแปลงนา โดยใช้อัตราส่วนน้ำแม่ 4 ลิตร ต่อน้ำพ่อ 1 ลิตร ผสมกับน้ำ 20 ลิตร หมักไว้ประมาณ 7 วัน ฟางก็จะย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยชั้นยอด

ขั้นตอนที่ 3 เมื่อข้าวที่ปลูกมีอายุ 10-15 วัน และ 45 วัน ทำการใส่น้ำหมักชีวภาพเป็นครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 อัตราส่วนเช่นเดิมกับตอนหมักฟาง และเมื่อข้าวมีอายุได้ 60 วัน เป็นช่วงที่ข้าวเริ่มแตกกอ ให้ใช้อัตราส่วนน้ำแม่ 2 ลิตร ต่อ น้ำพ่อ 2 ลิตร ผสมน้ำ 20 ลิตร เพื่อเร่งการแตกกอของข้าว แต่ถ้าข้าวยังไม่งามเท่าที่ควรก็อาจมีการหว่านปุ๋ยอินทรีย์เม็ดร่วมด้วย อัตราตามความเหมาะสม และสภาพของข้าวที่ปลูก แต่โดยทั่วไปจะใช้ประมาณ 50-100 กก./ไร่ และในครั้งสุดท้ายให้ฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพตอนช่วงข้าวเริ่มตั้งท้อง โดยใช้อัตราส่วน น้ำแม่ 1 ลิตร ต่อ น้ำพ่อ 5 ลิตร ผสมน้ำ 20 ลิตร เพื่อกระตุ้นการติดเมล็ด

 

พี่ธนะฝากมาบอกว่าใครที่ยังเผาฟางข้าวอยู่ก็คือยังคงเผาชีวิต ทั้งของสัตว์ และของมนุษย์ ยิ่งคนที่ใช้ปุ๋ย และสารเคมีในนา เมื่อเวลาเผาฟาง และตอซัง สารเคมีเหล่านี้จะลอยขึ้นสู่อากาศเป็นสารพิษในอากาศที่เราสูดดม และยังคงรวมตัวเป็นฝนพิษตกลงมาด้วย เมื่อเรากินน้ำฝน น้ำในบ่อ หรือในแม่น้ำ ก็เท่ากับว่าค่อยสะสมสารพิษไว้ในร่างกายของเราทำให้เจ็บป่วยเป็นโรคต่างๆ ตามมาแต่การปรับเปลี่ยนต้องค่อยเป็นค่อยไป คือเมื่อเริ่มใช้วิธีอินทรีย์อย่าเพิ่งหยุดใส่ปุ๋ยเคมีทันทีแต่ให้ค่อยๆ ลดลงทีละครึ่ง ต้องใช้เวลา 3 ปีขึ้นไป จึงจะสามารถเลิกใช้ปุ๋ยเคมีได้อย่าถาวรได้

ฟางข้าวเปรียบเสมือนทองคำ….. ถ้าเผาฟางข้าวก็คือเผาทองคำในที่ดินของตนเอง…. เมื่อไม่มีฟางข้าวก็ทำเกษตรอินทรีย์ไม่ได้ผล ความยากจนของชาวนาก็ยังคงดำเนินต่อไป

นายธนะ  มงคลชัย

© Copyright 2024 คูโบต้า มหาสารคาม All Rights Reserved. | Design by iJude.net