ปรับขยายแปลงนาอย่างมืออาชีพ

ปรับขยายแปลงนาอย่างมืออาชีพ

 

ปรับขยายแปลงนา ได้พื้นที่นาปลูกข้าวเพิ่มขึ้นจากคันนาที่หายไป ประหยัดเวลาทำงาน  ลดค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิง อีกทั้งยังช่วยลดการสึกหรอของเครื่องจักรกลการเกษตรได้อีกด้วย

 

พี่ลีณวัฒน์ คำภาเกะ นักปรับนามืออาชีพ ปรับมาแล้วกว่า 3,000 ไร่ บอกว่า การปรับขยายแปลงนานั้นใครๆ ก็ทำได้เพียงแค่มีแทรกเตอร์ แต่ทำได้ดีหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับฝีมือของผู้ปรับ ทำให้เกิดความไม่มีมาตรฐาน บางแปลงปรับแล้วขังน้ำได้ไม่เรียบ ข้าวเจริญเติบโตได้ไม่ดี มิหนำซ้ำคนที่มารับจ้างปรับขยายแปลงนาเมื่อปรับแล้วยังหายสาบสูญไม่รับผิดชอบอีก เลยอยากจะบอกเทคนิคที่จะทำให้ท่านกลายเป็นนักปรับขยายแปลงนาอย่างมืออาชีพ เพื่อจะได้มีรายได้เพิ่มขึ้นมีลูกค้าประจำเป็นการถาวร ไม่ต้องตะลอนหาลูกค้าไกลบ้าน

1. ไถพื้นที่ทั้งหมดด้วยผานไถ ที่ต้องทำการไถพื้นที่ทั้งหมดก่อนนั้นเพื่อจะได้มองเห็นว่าจริงๆ แล้วพื้นที่มันสูงต่ำอย่างไร ถ้าไม่ไถก่อนบางครั้งดินมันแน่นหรือร่วนไม่เท่ากันจะมองยาก และเวลาใช้ใบมีดดันดินเกลี่ยดินจะทำให้ต้องใช้แรงของแทรกเตอร์มาก สิ้นเปลืองน้ำมัน ใช้เวลาเยอะ และเครื่องยนต์สึกหรอเร็ว

2. กำจัดคันนาเก่า ขั้นตอนนี้ต้องดูด้วยว่าคันนาที่มีอยู่ในพื้นที่นั้นมีขนาดใหญ่เล็กขนาดไหน ถ้าใหญ่มากต้องใช้ใบมีดดันดิน ดันแบบปาดๆ เป็นชั้นๆ อย่าฝืนดันครั้งเดียว เพราะคันนาบางครั้งอาจแข็งมากเนื่องจากเป็นคันนาเก่า ถ้าคันนาขนาดเล็กก็สามารถใช้ผานไถวิ่งผ่านได้เลยแต่ต้องระวังเรื่องของตอไม้ ต้องสังเกตุให้ดีก่อนทำการทะลายคันนา

3. การปรับพื้นนา ทำการดันดินจากพื้นที่สูง ลงสู่ที่ต่ำ โดยใช้ใบมีดดันดิน กรณีนี้ต้องตกลงกับเจ้าของนาก่อนว่าจะดันแบบเก็บหน้าดินก่อนหรือไม่ พยายามปรับให้พื้นที่มีความเรียบและเสมอกัน ประมาณว่าความเรียบ 60 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ทั้งหมดก่อน แล้วจึงใช้อุปกรณ์เสริมคือ กล้องวัดระดับ ที่ใช้กับงานก่อสร้างถนน (ราคาประมาณ 10,000 – 20,000 บาท) ทำการส่องจับระดับแล้วใช้ใบมีดดันดินปรับตามระดับที่วัดไว้ ก็จะได้ผืนนาที่เรียบเสมอทั่วทั้งแปลง เหตุผลที่ใช้เพราะว่าทำให้ประหยัดต้นทุนในการปรับนาไปได้กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ และทำให้ได้ผืนนาที่เรียบได้มาตรฐาน ไม่ต้องมาตามแก้งานให้ปวดหัว และเสียเวลา “เมื่อก่อนไม่ใช้เครื่องมือเลย นาก็ไม่เรียบซักที ปรับแล้วปรับอีก และยังต้องมาแก้งานบ่อยมาก ก็พัฒนามาใช้สายยางวัดระดับแบบที่ใช้สร้างบ้านก็ยุ่งยาก เสียเวลามากและต้องจ้างคนมาช่วยวัดอีก 2 คน แต่พอใช้กล้องส่องแบบนี้ ส่องทีเดียวเรียบ แถมยังรับงานปรับพื้นที่แบบอื่นๆ ได้อีกด้วย พี่ลีณวัฒน์กล่าว”

4. แนะนำลูกค้า และติดตามผลงาน แปลงนาที่ได้ทำการปรับเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น ยังไม่ได้แสดงว่างานเราเสร็จแล้ว เราต้องแนะนำลูกค้าด้วยว่า แปลงนาที่ปรับใหม่ๆ เมื่อปลูกข้าวรอบแรกจะได้ผลผลิตข้าวที่ไม่สม่ำเสมอดีนักเพราะหน้าดิน และความสม่ำเสมอของความอุดมสมบูรณ์จะเปลี่ยนไป จึงต้องแนะนำให้เค้าใส่ปุ๋ยอินทรีย์ลงไปในแปลงนาที่ปรับขยายไปแล้วด้วย โดยทั่วไปก็จะใส่ประมาณ 500 – 1,000 กิโลกรัม/ไร่ และต้องกลับไปดูนาของลูกค้าเมื่อเข้าฤดูฝนด้วยว่าเรียบเสมอดีมั้ยขังน้ำได้ดีหรือไม่ ถ้ามีอะไรไม่เรียบร้อยต้องกลับไปแก้ให้จนผืนนาสามารถขังน้ำได้สม่ำเสมอกันดี จึงถือว่างานของนักปรับนามืออาชีพเสร็จสมบูรณ์

พี่ลีณวัฒน์ปรับนามาประมาณ 10 ปี มีผืนนาผ่านมือมาแล้วกว่า 3 – 4,000 ไร่ ได้ฝากข้อคิดถึงเพื่อนๆ ผู้รับจ้างปรับนาว่า ถ้าเราทำงานให้ลูกค้าดี มีมาตรฐาน มีเครื่องจักรกลการเกษตรที่ดี และมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย จะทำให้เราไม่ต้องขวนขวายวิ่งหาลูกค้า เพราะลูกค้าจะบอกปากต่อปากกันเอง งานก็จะเข้ามาหาเราอย่างไม่ขาดสายเลยทีเดียว

© Copyright 2024 คูโบต้า มหาสารคาม All Rights Reserved. | Design by iJude.net